การเกิดเป็นมนุษย์ นั้นยากนัก
สวัสดีครับสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ ณ วัดเชตวัน มีอุบาสก 5 คน เป็นเพื่อนกัน มานั่งฟังธรรม ทั้ง 5 คนต่างมีกิริยาอาการต่างๆกัน คนหนึ่งนั่งหลับ คนหนึ่งนั่งเอานิ้วเขียนพื้นดินเล่น คนหนึ่งนั่งเขย่าต้นไม้ คนหนึ่งนั่งแหงนดูท้องฟ้า มีเพียงคนเดียวที่นั่งฟังด้วยอาการสงบ
พระอานนท์กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า "ทำไมอุบาสกเหล่านี้จึงแสดงกิริยาเช่นนั้น"
พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่าอดีตชาติของอุบาสกแต่ละคนว่า
อุบาสกที่นั่งหลับ เคยเกิดเป็นงูมาแล้วหลายร้อยชาติ เขาหลับมาหลายร้อยชาติแล้วก็ยังไม่อิ่ม แม้แต่ฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ธรรมะก็ไม่เข้าหู ยังหลับอยู่อย่างนั้น
อุบาสกที่เอานิ้วมือเขียนพื้นดินเคยเกิดเป็นไส้เดือนมาหลายร้อยชาติ นั่งเอานิ้วเขียนบนพื้นดินเล่นอยู่อย่างนั้นด้วยอำนาจความประพฤติที่ตัวเคย ทำมา ก็ไม่ได้ยินธรรมะของพระพุทธเจ้าเช่นกัน
อุบาสกที่นั่งเขย่าต้นไม้อยู่นั้น เกิดเป็นลิงมาแล้วหลายร้อยชาติ ถึงบัดนี้ก็ยังเขย่าต้นไม้อยู่ ไม่ได้ยินธรรมะของพระพุทธเจ้าเช่นกัน
อุบาสกที่นั่งแหงนดูท้องฟ้านั้น เคยเกิดเป็นพราหมณ์บอกฤกษ์ด้วยการดูดาวมาหลายร้อยชาติ ถึงบัดนี้ก็ยังคงนั่งดูท้องฟ้าอยู่ ไม่ได้ยินธรรมะของพระพุทธเจ้า
อุบาสกที่นั่งฟังธรรมอย่างสงบด้วยความเคารพ เคยเกิดเป็นพราหมณ์ศึกษาธรรมะและปรัชญา ค้นคว้าหาความจริงมาหลายร้อยชาติ มาบัดนี้ได้พบพระพุทธเจ้า ตั้งใจฟังธรรมด้วยดี จนได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่าชาติก่อนเราเกิดเป็นอะไรหนอ
""พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยาก ต้องมีบุญมาก อุปมาเหมือนเต่าตาบอดตัวหนึ่งดำน้ำอยู่ในทะเล ทุกๆ 100 ปี เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่หัวขึ้นมาจากทะเลครั้งหนึ่ง ในทะเลก็มีห่วงเล็กๆขนาดใหญ่กว่าหัวเต่าหน่อยหนึ่งลอยอยู่ 1 ห่วง โอกาสที่เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่ขึ้นมา แล้วหัวสวมเข้ากับห่วงพอดียากเพียงใด โอกาสนั้นก็ยังมีมากกว่าการที่เหล่าสรรพสัตว์จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์""
เมื่อพูดถึงจิตวิญญาณที่ท่องเที่ยวในวัฎสงสารไม่ว่าจะในภพภูมิใด มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เปรต ยักษ์ สัตว์นรก เทวดา พรหม ฯลฯ กล่าวได้ว่า "มนุษย์" เป็นภพภูมิที่ประเสริฐสูงสุด ในโลกมนุษย์นี้ โดยอาศัยอัตภาพร่างกายของมนุษย์จิตของเรามีโอกาสที่จะมีประสบการณ์ได้ทุกภพ เมื่อเราเกิดมา เราอาศัยพ่อแม่มาเกิด กายของเราเป็นมนุษย์ก็จริงแต่จิตใจก็เป็นได้สารพัดอย่าง เปรียบชีวิตมนุษย์เป็นเหมือนห้องทดลอง
คนขี้เกียจ กินแล้วก็นอน กินแล้วก็นอน ชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับงู
คนที่ชอบทะเลาะวิวาท ต่อยกัน ตีกัน ก็เป็นเหมือนไก่ชน
คนที่ซุกซนอยู่เฉยไม่ได้ ก็เหมือนกับลิง
หรือบางคนชีวิตเป็นทุกข์เดือดร้อนใจ จนบอกว่าเหมือนตกนรกทั้งเป็นก็เป็นใจที่มีประสบการณ์เหมือนตกนรก
คนที่ไม่รู้จักพอ มีเท่าไรก็ยังหิวโหย อยากจะได้อยู่ร่ำไป ก็เป็นใจเปรต
บางคนถือตัวถือตน ชอบใช้อำนาจข่มเหงรังแกผู้อื่น ก็มีใจเหมือนยักษ์
บางคนรักสวยรักงาม รักอารมณ์ดี ใจดีมีหิริโอตตัปปะ ก็เป็นใจเทวดา
บางคนบำเพ็ญสมาธิภาวนาเข้าฌานเป็นรูปพรหม อรูปพรหม ก็มีใจเป็นพรหม
คนที่ประพฤติตนเหมาะสมกับเป็นมนุษย์ ก็มีใจเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
มนุษย์ แปลว่า ใจสูง หมายถึงมีจิตใจสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน เปรต ยักษ์ สัตว์นรก มนุษย์รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ มีหิริโอตตัปปะ ละอายเกรงกลัวต่อบาป ประพฤติตนอยู่ในกรอบของกฎหมายธรรมเนียมประเพณี ตามหลักพุทธศาสนาก็คือมีศีลธรรม การรักษาศีล 5 คือการรักษาคุณธรรมความเป็นมนุษย์ รักษาศีล 5 ได้ก็เท่ากับรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้สมบูรณ์
ในฐานะมนุษย์ ไม่มากก็น้อยที่ใจของเราได้มีประสบการณ์ในภพชาติอื่นๆทั้งที่ต่ำกว่าและสูง กว่าภพภูมิมนุษย์ เรามีปัญญาที่จะรู้ได้จากประสบการณ์ของเราแล้วว่าอะไรดีอะไรไม่ดี การเกิดเป็นมนุษย์ถ้าดีก็ดีได้มากๆ แต่ก็น่ากลัวเหมือนกัน เพราะถ้าประมาทก็ทำชั่วได้มาก ถ้าไม่ประมาท รักษาศีล 5 ทำความดี สร้างบารมี ตั้งใจพัฒนาชีวิตจิตใจแล้วก็สามารถมีประสบการณ์สูงขึ้น เป็นเทวดา พรหม ตลอดจนเข้าถึงอริยมรรค อริยผล บรรลุนิพพานได้ มนุษย์จึงเป็นชาติที่มีทางเลือก
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
เป็นการยากที่ได้เกิดเป็นมนุษย์
เป็นการยากที่ชีวิตสัตว์จะได้อยู่สบาย
เป็นการยากที่จะได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ
เป็นการยากที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติมา
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงควรเห็นคุณค้าของการเกิดเป็นมนุษย์ อย่าให้เสียโอกาส เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เอาใจใส่รักษาความเป็นมนุษย์ไว้ให้มั่นคง ถึงจะเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ตาม แต่จิตใจก็เป็นไปได้ใน 2 ทาง คือ
ใจต่ำ เป็นอกุศลจิต ใช้ชีวิตอย่างประมาทขาดสติ เป็นทางของสัตว์เดรัจฉาน เปรต ยักษ์ สัตว์นรก
ใจสูง เป็นกุศลจิต ดำเนินชีวิตอย่างมีสติปัญญา ไม่ประมาท สร้างกุศลกรรมความดี สร้างบารมี เป็นทางของมนุษย์ เทวดา พรหม อริยมรรค อริยผล นิพพาน
ดังนั้นสำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ในชาติหนึ่ง การเลือกทางดำเนินชีวิตของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
0 ความคิดเห็น: